ความเสี่ยงต่างๆ ของสุนัขที่เป็นโรคอ้วน

มีสุนัขอย่างน้อย 20% ในประเทศอุตสาหกรรมที่ถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งทำให้มีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในระยะยาว ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงต่างๆ และวิธีดูแลสุนัขของคุณได้ในบทความนี้
Adult dogs running through a field of long grass.

โรคอ้วนเป็นปัญหาที่เพิ่มสูงขึ้นในหมู่ประชากรมนุษย์ของเรา และน่าเศร้าที่สุนัขก็เป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นด้วยเช่นกัน จากการศึกษาหลายต่อหลายครั้งพบว่า มีสุนัขอย่างน้อย 1 ใน 5 ตัวที่อาศัยอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วน ถ้าสุนัขของคุณเป็นโรคอ้วน สุนัขมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นที่จะเป็นโรคเรื้อรังไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

สุนัขของคุณมีโอกาสเป็นโรคอ้วนมากน้อยแค่ไหน

สุนัขจะถูกจัดว่าเป็นโรคอ้วนเมื่อมีน้ำหนักตัวสูงกว่าน้ำหนักที่เหมาะสม 15% ถึง 20% หรือถ้าคุณจับที่ตัวสุนัข แล้วสัมผัสไม่เจอซี่โครงเลย นั่นก็แปลว่าสุนัขของคุณเป็นโรคอ้วนเช่นกัน สายพันธุ์ พันธุกรรม อายุ เพศ การใช้ชีวิต อาหารและการทำหมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วนในสุนัขทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น สุนัขตัวเมียจะน้ำหนักขึ้นง่ายกว่า สุนัขที่ทำหมันแล้วจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนมากกว่าสุนัขที่ไม่ทำหมันสองเท่า ปัญหาด้านพฤติกรรมการกินอาหาร รวมทั้งพฤติกรรมการให้อาหารของคุณเอง ก็ส่งผลต่อน้ำหนักตัวของสุนัขได้มากเช่นเดียวกัน

ความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนของสุนัข

ถ้าสุนัขของคุณมีน้ำหนักมากเกินไปหรือเป็นโรคอ้วน สุนัขอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาร้ายแรงและส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต เช่น

  • อายุสั้นลงอย่างมาก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและการหายใจ
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • ภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเป็นโรคอื่นๆ
  • เป็นโรคกระดูก และข้อต่อ เช่น ข้ออักเสบ
  • เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • เป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

นอกจากนี้ สุนัขที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่จะเซื่องซึม ขาดแรงจูงใจและพลัง และไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะออกกำลังกาย เล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆ

สุนัขโตเต็มวัยพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ นอนอยู่บนโต๊ะตรวจในคลินิกสัตวแพทย์

ทำไมโรคอ้วนในสุนัขจึงก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้

เมื่อสุนัขเป็นโรคอ้วน ร่างกายของสุนัขจะเริ่มเก็บสารอาหารและเปลี่ยนสิ่งที่รับประทานเป็นไขมันเนื่องจากร่างกายใช้พลังงานในการเล่นหรือการเคลื่อนไหวน้อยกว่าปริมาณอาหารที่รับประทาน ไขมันจะเริ่มแทรกซึมไปตามอวัยวะต่างๆ (อาทิเช่นตับ) ซึ่งหมายความว่าประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นจะลดลง ไขมันจะเริ่ม 'ปกคลุม' อวัยวะต่างๆ สร้างแรงกดดันที่มากขึ้นกับอวัยวะและลดความสามารถในการทำงานลง ตัวอย่างเช่นแรงดันที่หลอดเลือดแดงในสุนัขที่เป็นโรคอ้วนจะมีมากกว่าสุนัขที่สุขภาพดี ซึ่งหมายความว่าสุนัขมีแนวโน้มที่จะประสบกับโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงมากขึ้น

เมื่อสุนัขของคุณต้องแบกน้ำหนักที่มากขึ้น ทำให้การขยับร่างกายเป็นเรื่องยากมากขึ้น สุนัขจะเริ่มทรมานจากการปวดข้อต่อ ด้วยแรงกดที่มากเกินไปบริเวณข้อต่อ ในท้ายที่สุด สิ่งนี้อาจส่งผลต่อเนื่องโดยสุนัขไม่อยากออกกำลังกายเพราะรู้สึกเจ็บปวดแต่ยังคงกินอาหารเหมือนเดิมต่อไป ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความอยากทำกิจกรรมลดลง

วิธีช่วยสุนัขที่มีน้ำหนักมากเกินไป

ขั้นตอนแรกในการช่วยเหลือสุนัขของคุณคือการพาสุนัขเข้าพบสัตวแพทย์ของคุณ ซึ่งจะสามารถระบุได้ว่าสุนัขมีน้ำหนักมากเกินไปขนาดไหนและควรส่งเสริมการลดน้ำหนักของสุนัขด้วยวิธีการใด ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คุณในฐานะเจ้าของจะต้องมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสุนัขของคุณลดน้ำหนัก เช่น ทำตามตารางการให้อาหารอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการให้ขนมและเศษอาหารกับสุนัข และมั่นตรวจสอบน้ำหนักของสุนัข สัตวแพทย์ของคุณสามารถแนะนำตารางการให้อาหารตามอาหารสูตรลดน้ำหนักที่กำหนด

ด้วยการช่วยให้สุนัขลดน้ำหนัก คุณจะเริ่มเห็นสุนัขของคุณกลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้นและมีไลฟ์สไตล์ที่มีชีวิตชีวากว่าเมื่อก่อน – และทำให้พวกเขามีโอกาสใช้ชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ เพราะคุณหมอยินดีช่วยเหลือในเรื่องนี้

ภาพขาวดำของสุนัขโตเต็มวัยพันธุ์แจ็ค รัสเซลล์ เทอร์เรีย ยืนอยู่บนพื้นหลังสีขาว

ค้นหาสัตวแพทย์

หากคุณมีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของสุนัข ควรปรึกษาสัตวแพทย์

ชอบ และแบ่งปันหน้านี้